ส่ง E-card

เซลล์กระจกเงา ความงาม และความดี อีเมล์
เขียนโดย นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร   
พุธ, 17 กันยายน 2008

    ปราชญ์ในสมัยโบราณ รวมทั้งคนเฒ่าคนแก่ได้เคยสอนเราไว้ว่า จิตใจที่ละเมียดละไม จิตใจที่ได้สัมผัสแต่ความงาม จะน้อมนำเราไปสู่ความดี

แต่หลายคนก็ยังรู้สึกค้าน หรือบางคนอาจจะไม่เชื่อด้วยซ้ำไป สาเหตุก็เนื่องมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมาสอนให้เราเชื่อในเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล เชื่อในสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ อะไรก็ตามที่ไม่สามารถอธิบายหรือพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เราจึงมักปฏิเสธที่จะให้ความสำคัญ

รูดอล์ฟ สไตเนอร์ และ รพินทรนารถ ฐากูร คือสองนักปราชญ์ที่แนวคิดของพวกเขาก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน  ด้วยเหตุผลว่ามันไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือหากจะพูดง่ายๆ แบบชาวบ้านก็คือ แนวคิดของคนทั้งสองไม่เป็นวิทยาศาสตร์

   Image
รูดอล์ฟ สไตเนอร์ มีความเชื่อว่าการที่จะพัฒนาให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ได้นั้น เขาจะต้องเติบโตขึ้นภายใต้ บรรยากาศของความงาม แห่งศิลปะ ดนตรี บทกวี และธรรมชาติ และด้วยความเชื่อเช่นนี้ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้ก่อตั้ง โรงเรียนวอลดอร์ฟ ขึ้น โรงเรียนแห่งนี้เน้นการให้นักเรียนได้สัมผัสและซึมซับกับความงามของสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าว เพื่อให้สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้นักเรียนเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความงามและความดีในหัวใจ แต่ด้วยความที่แนวคิดของเขาถูกมองว่าไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ดังนั้นแนวคิดการจัดการศึกษาแบบวอลดอร์ฟจึงไม่ได้รับการยอมรับและเป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก

รพินทรนารถ ฐากูร ก็มีความเชื่อคล้ายๆ กัน เขาเชื่อว่าการศึกษาที่ถูกต้อง คือการทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้สัมผัสกับความงดงามของวิถีชิวิตของผู้คน และธรรมชาติ ดนตรี บทกวี ศิลปะคือเครื่องมือที่สำคัญของการศึกษา สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือที่จะนำพาผู้เรียนก้าวไปสู่ความงาม และความดีแห่งชีวิต โรงเรียนศานตินิเกตัน  คือผลผลิตจากความคิดของเขา และก็เช่นเดียวกันกับแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนวอลดอร์ฟ มันไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก   คนส่วนใหญ่มองว่ามันเป็นแนวคิดเชิงปรัชญามากเกินไป และไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพของมันได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

แต่การค้นพบทฤษฎีเซลล์กระจกเงา ทำให้แนวคิด โรงเรียนวอลดอร์ฟ และ โรงเรียนศานตินิเกตัน  มีความหมายขึ้นมาอีกครั้งทันที

วิตตอริโอ กาลิซซี่ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพาร์ม่า ประเทศอิตาลี ผู้ค้นพบเซลล์กระจกเงา และ เดวิด ฟรีดเบอร์ก ศาสตราจารย์ทางด้านศิลปะ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์คสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันเสนอบทความในวารสาร Trends in Cognitive Science Vol.15, No. 5 (2007) สรุปความได้ว่า ความประทับใจในภาพเขียนหรืองานประติมากรรมซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา จะทำให้เราสามารถเข้าถึง และเข้าใจในเจตนาของผู้สร้างผลงานนั้นๆ  ว่าเขามีเจตนาอย่างไร เขาต้องการสื่ออะไร และความเข้าใจในเจตนาของผู้สร้างผลงานอันนี้เอง      ที่นำเราไปสู่ความเข้าใจในความทุกข์ ความเจ็บปวด ความปิติยินดีของผู้อื่น หรือที่ภาษาทางจิตวิทยาเขาใช้คำว่า ?Empathy? ซึ่งหากจะแปลเป็นไทยก็น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า ?เอาใจเขา มาใส่ใจเรา? มากที่สุด

ภาวะที่เราเกิดความรู้สึก ?เอาใจเขา มาใส่ใจเรา? คือภาวะที่ตัวเราเข้าใจ รู้ซึ้งถึงความทุกข์สุข ที่เขากำลังเผชิญอยู่โดยที่เราก็ยังมีสติออย่างสมบูรณ์ มีความเป็นตัวของตัวเราอยู่ ภาวะเช่นนี้จะทำให้เราเกิดความเห็นใจเขา ไม่คิดที่จะทำอะไรให้เขาเจ็บปวด และนี่คือจุดเริ่มต้นของคุณธรรมที่ว่าด้วยความเห็นใจ และการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาภาพที่ประกอบในบทความตอนนี้ดูว่าท่านรู้สึกอย่างไร มันสามารถทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนที่อยู่ในภาพ และเข้าใจถึงเจตนาของศิลปินผู้สร้างผลงานเหล่านี้ได้หรือไม่ว่าพวกเขาต้องการบอกอะไรแก่เรา

Image

ภาพ Disaster of war ของ Goya

Image

ภาพ  ?ความฝันของพระเจ้าโซโลมอน?

Image

ภาพ  ?ความสงสัยของCaravaggio?

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการได้ดูภาพเหล่านี้ คือผลจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา     ภาพของเหตุการณ์ รายละเอียดที่แสดงถึงความรู้สึกของบุคคลที่อยู่ในภาพ จะถูกส่งผ่านเซลล์กระจกเงาไปยัง ?ระบบลิมบิก: Limbic System? ซึ่งเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึกในสมองของเรา ทำให้เราเกิดความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจคนที่อยู่ในภาพเหล่านี้ เมื่อความรู้สึกเข้าใจ และเห็นใจเกิดขึ้นในตัวเราแล้ว ก็ตอบตัวเองก็แล้วกันครับว่าเราอยากจะให้คนเหล่านี้เป็นทุกข์มากขึ้น หรืออยากพวกเขาพ้นทุกข์

ข้อสำคัญก็คือ ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้น เป็นข้อมูลที่ส่งผ่านด้วยภาษาพูดหรือภาษาเขียนได้ยาก เพราะมันเป็นข้อมูลด้านความรู้สึก แต่จะส่งผ่านท่าทาง การแสดงออก หรือส่งผ่านภาพ ส่งผ่านงานศิลปะได้ง่ายกว่า

 วิตตอริโอ กาลิซซี และ เดวิด ฟรีดเบอร์ก สรุปว่างานศิลปะคือเครื่องมือนำไปสู่ความซาบซึ้ง นำไปสู่การมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่น นำไปสู่การมองเห็นความงามในแง่มุมต่างๆ ทั้งหมดเกิดจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา และจะส่งผลต่อการตัดสินใจของเราว่าเราควรจะมีบทบาทตอบสนองต่อเรื่องราวนั้นๆ อย่างไร
 
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง ?การเลียนแบบ และพัฒนาการของจริยธรรม(Imitation & Moral Development)? ของ เจสซี ปริ๊นซ์ (Jesse Prinz)  ศาสตราจารย์ทางปรัชญา แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ชาเพล ฮิลล์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ Perspective on  Imitation: From Cognitive Neuroscience to Social Science(2005) ของ ซูซาน เฮอร์เลย์ (Susan Hurley)   ในหนังสือเล่มนี้ ดร.เจสซี ปริ๊นซ์  ได้กล่าวถึงงานวิจัยของเธอที่พบว่า การเกิดคุณธรรมในคนเรานั้นเป็นผลมาจากการที่เรารับรู้ถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ของผู้อื่น ไม่ใช่เกิดจากความเข้าใจในกฏเกณฑ์ของคุณธรรม สรุปง่ายๆ ก็คือเมื่อเห็นผู้อื่นทุกข์แล้วเราก็อยากให้เขาพ้นทุกข์ นั่นแหละคือต้นตอของการเกิดคุณธรรม การเกิดขึ้นของคุณธรรมแบบนี้จะมีคุณภาพมากกว่าคุณธรรมที่เกิดจากการสร้างความเข้าใจในกฏเกณฑ์ของคุณธรรม เพราะบางครั้งคุณธรรมก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกฏเกณฑ์ที่มนุษย์ได้เคยสร้างไว้

มาถึงตอนนี้ผมอยากให้ผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านตอนต้นๆ ของบทความใหม่อีกรอบ อ่านดูว่าความงามที่ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ และ รพินทรนารถ ฐากูร ได้เคยนำเสนอให้กับประชาคมโลกใบนี้มีคุณค่าเพียงใดหากนำมาอธิบายด้วยการทำงานของเซลล์กระจกเงา

หน้าที่ของเราในตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรจะช่วยให้ลูกหลานของเราได้มีโอกาสสัมผัสกับความงามตามที่นักปราชญ์ทั้งสองท่านได้เคยบอกเราไว้

ความงาม เชื่อมไปสู่ความดี เป็นจริงดังที่คนโบราณบอกไว้ และเซลล์กระจกเงาคือสะพานที่เชื่อมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน