ทักทาย มิถุนา ? กรกฎา อีเมล์
เขียนโดย แม่จา   
อาทิตย์, 15 มิถุนายน 2008
สวัสดีค่ะ สมาชิกครอบครัวตัวต่อ

บ้านไหน ครอบครัวไหน ได้ช่วยโลกของเราลดภาวะโลกร้อนแล้วบ้างคะ  นี่ไม่ใช่การถามตามกระแสหรือแฟชั่นนะคะ  แต่เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำอย่างจริงจังซักที   หลายครอบครัวที่คิดอยู่แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี  วันนี้มีคู่มือสำหรับครอบครัวคนเมืองชื่อ  ?Un-Plug  29 ประการ  ประหยัดพลังงาน คลายโลกร้อน? ได้รับความอนุเคราะห์  จากกรุงเทพประกันภัย อนุญาตให้นำเนื้อหาขึ้นเว็บไซต์ของเรา  สำหรับครอบครัวหรือ คุณครู ที่ช่วยกันสอนลูกสอนหลานเรื่องภาวะโลกร้อน  แล้วส่งความคิดดีๆ ?สอนโลกร้อนให้ลูกรัก?  เขียนเล่าวิธีการสอนเด็กๆให้เข้าใจได้ง่ายๆ  พร้อมชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์  มาที่ อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้ 10 ลำดับแรก  จะได้รับถุงผ้า Un-Plug พร้อมพัดใบลาน และคู่มือ Un-Plug 29 ประการ  จากกรุงเทพประกันภัย  ส่งกลับไปให้ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้งเข้ามาค่ะ

ยังมีอีกเรื่องที่ครอบครัวคนเมืองอย่างเราต้องมีกันแน่ๆคือกล่องนมลูกที่กลายเป็นขยะทิ้งลงถังทุกๆวัน ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน  กล่องนมมีค่ามากกว่าการเป็นขยะนะคะ  จะเอามาแปลงกายเล่นกับลูก ทำเป็นที่ใส่ดินสอตั้งโต๊ะ หรืออื่นๆอีกสารพัด   จะให้เล่นยังไงก็ต้องเหลือเป็นขยะแน่ๆ  อย่าทิ้งเลยนะคะช่วยกันส่งให้ผู้รับบริจาคกล่องเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ รีไซเคิล..กล่องนม จะได้ไม่ต้องตัดต้นไม้เพิ่มมาทำกระดาษ ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อนำมาทำเป็นกล่องนมและ กล่องเครื่องดื่ม   เชื่อว่าทุกครอบครัวต้องช่วยได้แน่ๆ                                                                                                                                                                                                     
บ้านเรา  โลกเรา ร้อนขึ้นทุกๆวัน  เราคงจะหยุดโลกร้อนไม่ได้แต่อย่างน้อยเราก็น่าจะช่วยให้โลกร้อนช้าลงได้ด้วยกันเปลี่ยนแปลงความเคยชินที่เราทำๆกันทุกๆวันเดี๋ยวนี้เถอะค่ะ   ได้รับอีเมลล์จากพี่น้องเป็นบทความชื่อ          'ส.ค.-ต.ค.'พายุใหญ่ถล่มไทย สมิทธฟันธงกทม.จมใต้บาดาล ที่มาจากแหล่งข้อมูลไหนไม่ทราบ (ต้องขออภัยผู้เขียนบทความนี้ด้วย)  คำทำนายอาจจะจริงหรือไม่ก็ยังไม่รู้ (ขอให้ช่วยกันป้องกันได้)  แต่จากที่ผ่านมาเราก็เห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น บ่อยขึ้น  ถ้าเรายังเอาแต่ความสบายเป็นที่ตั้ง  ไม่นึกถึงผลกระทบที่ตามมา  ถึงรุ่นลูกหลานของเราโตมา (เราอาจจะยังไม่ตาย) ไม่รู้ว่าจะมีโลกให้อยู่กันรึเปล่า

รักลูก...รักษ์โลกด้วยนะคะ

แม่จา
www.tuator.net
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
'ส.ค.-ต.ค.'พายุใหญ่ถล่มไทย สมิทธฟันธงกทม.จมใต้บาดาล

'สมิทธ' ฟันธง 'ส.ค.-ต.ค.' พายุใหญ่ถล่มประเทศไทย ทำให้ กทม.จมบาดาล ระบบประปาพินาศ คนเมืองหลวงไม่มีน้ำใช้ จี้หน่วยงานรัฐเร่งหามาตรการรับมือโดยด่วน ขณะที่อดีตนายกสภาวิศวกรรมสถานฯ หวั่น 'วัดพระแก้ว' เสียหายหากเกิดน้ำท่วมพระบรมมหาราชวัง
การออกมาแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ครั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ในการเสวนาเรื่อง 'แผนรับมือวิบัติภัยในมหานครกรุงเทพ' ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร การเสวนาครั้งนี้มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเสวนา

ดร.สมิทธกล่าวว่า จากการศึกษาและติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติมาโดยตลอด พบว่าภัยพิบัติที่จะกระทบ กทม.และปริมณฑล มีอยู่ 2 ประเภท คือ ภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหว และภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขัง ซึ่งเกิดจากสภาวะโลกร้อน โดยภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวเป็นภัยที่รุนแรงและมีผลกระทบต่อมนุษย์จำนวนมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ 13 รอย และจากการศึกษาพบว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ รอยเลื่อนทั้งหมดเกิดรอยร้าวเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ซึ่งการเกิดรอยร้าวดังกล่าวทำให้อาคารที่โครงสร้างไม่แข็งแรงใน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ มีโอกาสถล่มลงมาได้

ดร.สมิทธกล่าวต่อว่า ในพื้นที่ กทม.อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากรอยเลื่อน 2 รอย คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี หากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขึ้นมาอีก เชื่อว่าจะส่งผลให้เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์แตก และทำให้น้ำปริมาณกว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลทะลักเข้าสู่ จ.ราชบุรี จ.นครปฐม และ กทม.

'กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนดินเลน เมื่อได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวแล้ว ระยะสั่นสะเทือนจะขยายตัว 2-3 ริกเตอร์ ทำให้อาคารที่สูงไม่เกิน 6 ชั้น อาจแตกร้าวและพังทลายลงมา ส่วนอาคารสูงไม่น่าเป็นห่วง เพราะวิศวกรได้ออกแบบอาคารไว้รองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีความพร้อมในการรับมือกับแผ่นดินไหว โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงอาจทำให้เกิดความเสียหายมาก' ดร.สมิทธกล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า ภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากสภาวะโลกร้อนขึ้นนั้น จากสถิติไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าพายุที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียจะมีแรงลมสูงมากถึงขนาดเป็นไซโคลน แต่ตอนนี้เกิดขึ้นแล้วคือพายุไซโคลนนาร์กีส ซึ่งมีความเร็วลมสูงถึง 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อขึ้นฝั่งในลุ่มน้ำอิระวดีในพม่า แรงลมสูงสุดถึง 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความรุนแรงถึงระดับ 4
'ผมขอทำนายว่าในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมนี้ จะมีพายุขนาดใหญ่พัดถล่มประเทศไทย ทางด้านอ่าวไทย ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.เพชรบุรี เข้ามา ซึ่งอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์สตรอม เสิร์ช (Strom Surge) หรือน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาถึงบริเวณปากอ่าวเจ้าพระยา และเข้าท่วมพื้นที่ กทม. โดยกว่าจะไหลย้อนกลับสู่ทะเลต้องใช้เวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ และหากท่วมเหนือคลองประปา จะทำให้ประชาชนไม่มีน้ำในการอุปโภคบริโภค' ดร.สมิทธกล่าว

ด้านนายต่อตระกูลกล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นจริงจะทำให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญหลายแห่งเสียหายโดยเฉพาะวัดพระแก้ว ซึ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ได้มีการฝังเสาลงดิน หากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่พระบรมมหาราชวังก็จะทำให้เสื่อมความแข็งแรงลงอย่างรวดเร็ว

หลังการเสวนา 'คม ชัด ลึก' ได้สอบถามไปยัง ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการฝ่ายอุตุนิยมวิทยาทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดพายุใหญ่พัดถล่มประเทศไทยตามที่ ดร.สมิทธกล่าวในการเสวนา ดร.วัฒนาระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม อาจจะเกิดพายุใหญ่ถล่มประเทศไทย เพราะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงฤดูฝน อยู่ระหว่างช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าประเทศไทย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าช่วงดังกล่าวมีพายุพัดถล่มประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ พายุไต้ฝุ่นลินดา ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนก็เกิดขึ้นในช่วงนี้

ดร.วัฒนากล่าวต่อว่า สภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้ความรุนแรงของพายุเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า หากพายุพัดเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นเมืองก็อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะหากพายุเคลื่อนเข้าประเทศไทยทางฝั่งภาคตะวันออกจะทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ กทม.โดยตรง ซึ่งมีความเป็นห่วงว่า หากมีพายุพัดเข้าบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่ กทม. เนื่องจากขณะนี้แม้จะมีการสร้างเขื่อนกั้นริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาในหลายจุด แต่การสร้างเขื่อนที่ผ่านมาทำเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำเหนือไหลหลาก ไม่ได้มีไว้รองรับพายุที่พัดเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้บริเวณปากแม่น้ำยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อน หากเกิดพายุพัดกระหน่ำจริง เขื่อนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้

ดร.วัฒนากล่าวด้วยว่า มีความเป็นห่วงว่าหากช่วงเวลาที่เกิดพายุตรงกับช่วงที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวอาจทำให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์พัดกระหน่ำบริเวณชายฝั่ง หากอาคารบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งไม่แข็งแรงก็จะสร้างความเสียหายร้ายแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยามีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมไว้ด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอพยพผู้ประสบภัย เพราะขณะเกิดเหตุภัยพิบัติหากมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยได้รวดเร็ว ความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนก็จะลดน้อยลง