จิปาถะ..เกี่ยวกับเรื่องการนอน อีเมล์
เขียนโดย แม่จา   
อาทิตย์, 11 พฤษภาคม 2008

แม่จาได้รับอีเมลล์จากแม่อ้อเพื่อนรัก  ส่งมาให้เคยได้อ่านเรื่องท่านอนสมัยท้องน้องนีร  แต่ก็เลือนๆไปนานมากแล้ว  พอได้อ่านบทความนี้ก็จัดแจงจัดท่านอนให้ทั้งตัวเองและทุกคนในบ้านเลยค่ะ  
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หากเอ่ยถึงการนอนหลับลึกด้วยวิธีการคลายเกร็ง (Relaxation)
ตามแบบฉบับชาวชีวจิตแล้ว หลายๆ คนอาจพยักหน้ารู้จัก และปฏิบัติกันเป็นอย่างดี
แต่หากพูดถึงท่านอนที่คุณนอนในยามค่ำคืนแล้ว อาจมีหลายคนที่ส่ายหน้า เพราะไม่เคยสังเกต
หรืออาจเปลี่ยนท่านอนกันบ่อยในแต่ละคืน
          แต่คุณทราบหรือไม่ว่า ท่านอนแต่ละท่ามี ข้อดีและข้อเสียอย่างไร
แล้วหากท่านั้นเป็นท่านอนประจำตัวคุณเสียแล้วจะต้องปรับเปลี่ยนท่านอนกันอย่างไรนั้น
เกร็ดสุขภาพฉบับนี้มีคำแนะนำดีๆ จาก นายแพทย์ วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ มาฝากกันค่ะ
นอนหงาย
          โดยปกติแล้วคนทั่วไปนิยมนอนหงาย ถือได้ว่าเป็นท่านอนมาตรฐาน
เวลานอนหงายโดยไม่หนุนหมอนหรือใช้หมอนต่ำ ต้นคอจะอยู่ในแนวเดียวกันกับลำตัว
ไม่ปวดคอ แต่ถ้าหนุนหมอนสักสองสามใบ คอจะก้มโน้มมาข้างหน้า ทำให้เกิดอาการปวดคอได้
          ผู้มีอาการดังต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยงการนอนในท่านอนหงาย หรือแก้ไขตามคำแนะนำ ดังนี้
           ผู้ป่วยโรคปอด ไม่เหมาะที่จะนอนท่านอนหงาย เพราะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมที่คั่นระหว่างช่องอก
และช่องท้องกดทับเนื้อปอดเป็นเหตุให้หายใจลำบาก แต่สามารถแก้ไขได้ โดยการยกส่วนบนของร่างกายให้สูงขึ้น
ในลักษณะครึ่งนอนครึ่งนั่ง อาจจะใช้หมอน 2 - 3 ใบวางหนุนรองหลังไว้ หรือยกพื้นเตียงส่วนบนให้สูงขึ้นพอประมาณ
           ผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย จะมีอาการนอนราบไม่ได้
ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถสูบฉีดโลหิตออกจากห้องหัวใจ ได้ก่อให้เกิดอาการหอบ และหายใจติดขัด
ผู้ป่วยโรคหัวใจจึงมักต้องลุกขึ้นนั่ง หรือยืนตอนกลางคืนเพื่อที่จะหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
           ผู้ที่มีอาการปวดหลัง การนอนหงายในท่าราบจะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น
เวลานอนควรใช้หมอนหนุนรองใต้โคนขา หรือวางพาดขาทั้งสองไว้บนเตียงนอน
รวมทั้งควรออกกำลังกายเป็นประจำวันละ 10 - 15 นาที เพื่อช่วยบริหารกล้ามเนื้อหลังลดการเกร็งตัว
และบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี
 นอนตะแคง
           ท่านอนตะแคงซ้าย เป็นท่านอนที่ช่วยลดอาการปวดหลังได้พอสมควร
แต่ควรกอดหมอนข้างและพาดขาไว้ ข้อเสียคือทำให้หัวใจ ซึ่งอยู่ด้านซ้ายทำงานลำบากขึ้น
 และอาหารในกระเพาะที่ยังย่อยไม่หมดตั้งแต่ก่อนเข้านอนจะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร
ทำให้เกิดลมจุกเสียดที่บริเวณลิ้นปี่ และอาจรู้สึกชาที่ขาซ้ายหากนอนทับเป็นเวลานาน
หรือถ้าหนุนหมอนต่ำเกินไปจะทำให้ปวดต้นคอได้ แก้ไขโดยใช้หมอนสี่เหลี่ยมที่มีความสูงเท่าความกว้างของบ่าซ้ายหนุนนอน
          ท่านอนตะแคงขวา เป็นท่านอนที่ดีที่สุด ถ้าเทียบกับการนอนหลับในท่าอื่นๆ เพราะหัวใจเต้นสะดวก
และอาหารจากกระเพาะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทำให้ไม่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไป
 และเป็นท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี
          นอกจากนี้ ท่านอนตะแคงทั้งตะแคงซ้าย และขวาช่วยลดเสียงกรนได้ ในผู้ที่กรนจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน
 เช่น ลิ้นไก่ยาว โคนลิ้นหนา ต่อมทอนซิลโตมาก หรือโพรงจมูกอุดตัน
 นอนคว่ำ
           ท่านอนคว่ำทำให้หายใจติดขัดไม่สะดวก โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีเต้านมใหญ่หรือสำหรับผู้ชาย
การนอนคว่ำก็อาจทำให้อวัยวะเพศถูกทับอยู่ตลอดเวลา จนเกิดอาการชาของอวัยวะเพศได้
           การนอนคว่ำยังทำให้ปวดต้นคอ เนื่องจากต้องเงยมาข้างหลัง หรือบิดหมุนไปข้างซ้ายหรือขวานานเกินไป
ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องนอนคว่ำ ควรหาหมอนรองใต้ทรวงอก โดยเฉพาะถ้าต้องการอ่านหนังสือในท่านอนคว่ำ
ทั้งนี้เพื่อช่วยไม่ให้เมื่อยกล้ามเนื้อคอ และไม่มีอาการปวดคอ
          นอกจากนี้ ความเชื่อแต่โบราณที่เคยเข้าใจว่า ทารกควรให้นอนคว่ำรูปหัวจะทุยสวย
ไม่แบน แต่ปัจจุบันพบว่าจริงๆ แล้วอาจเกิดผลเสียได้ ทารกมีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากหายใจไม่ออกจากการที่จมูกหรือปากถูกทับไว้
          นอกจากคุณจะเลือกนอนให้ถูกท่าเพื่อสุขภาพแล้ว
ต้องรู้จักการนอนหลับลึกหลับสนิท ซึ่งช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และถือเป็นวิธีส่งเสริม "ภูมิชีวิต" อีกทางหนึ่ง